ลงพื้นที่สำรวจอาการผิดปกติของต้นทุเรียนเจ้าเมือง “ต้นไม้รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี”

วันที่ 17 มิถุนายน 2563 นายชัยพร นุภักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนางชนิดา ตะเภาน้อย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ร่วมกับนายสุพัชรพงศ์ วรประดิษฐ์ นายอำเภอเวียงสระ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่สำรวจอาการผิดปกติของต้นทุเรียนเจ้าเมือง “ต้นไม้รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี” หมู่ที่ 17 บ้านสวนกล้วย ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริเวณโคนต้นทุเรียนเมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่า เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล มีน้ำเยิ้มออกมาจากบริเวณเปลือกไม้ และมียางไหลออกมาจากลำต้น ซึ่งสรุปได้ว่าเป็น โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน สาเหตุเกิดจากราไฟทอปธอรา พาล์มิโวรา (Phytophthora palmivora Butler) โดยเชื้อราสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้น ได้แก่ ใบ กิ่ง ลำต้น ดอก ผล และระบบราก อีกทั้งเชื้อราจะอาศัยอยู่ในดินและสามารถแพร่ระบาดได้ทั้งในน้ำและในอากาศ การป้องกันกำจัดทำได้โดย ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทิ้งทำลายนอกแปลง ในกรณีเกิดโรคที่ต้นให้ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก จากนั้นทาแผลด้วย เชื้อราไตรโคเดอร์มา 250 กรัม ผสมปูนแดง (ชนิดเดียวกับที่ใช้ทาหน้ายาง) 250 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร ทาบริเวณบาดแผล และถ้าพบโรคมีอาการรุนแรง ให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชทาบริเวณบาดแผล ได้แก่ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

ใส่ความเห็น