แตนเบียนอะซีโคเดส

ชื่อไทย                แตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว 

ชื่อวิทยาศาสตร์     Asecodes hispinarum Boucek 

วงศ์ (Family)       Eulophidae 

อันดับ (Order)    Hymenopter

   แตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว เป็นแมลงที่มีประโยชน์ช่วยทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวเป็นแตนเบียนขนาดเล็ก จัดเป็นแตนเบียนภายในมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศซามัวตะวันออก และมีการนำไปใช้ควบคุมแมลงดำหนามในประเทศเวียดนามเมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นผลดี และกรมวิชาการเกษตรนำเข้าแตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวจากประเทศเวียดนามเข้ามาประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 เพื่อใช้ควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว โดยใช้ครั้งแรกที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ลักษณะการทำลายเหยื่อ

   ตัวเต็มวัยแตนเบียนเพศเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะใช้อวัยวะวางไข่ ลักษณะคล้ายเข็มเล็กๆ แทงเข้าไปวางไข่ในลำตัวของหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว หนอนแตนเบียนจะฟักออกจากไข่ดูดกินของเหลวเจริญเติบโต และเข้าดักแด้ในตัวหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว หนอนที่ถูกเบียนตายลำตัวจะเป็นสีดำ เรียกว่า มัมมี่ ตัวเต็มวัยแตนเบียนเมื่อออกจากดักแด้ จะกัดผนังของมัมมี่ออกมาและจับคู่ผสมพันธุ์ 1-2 ชม. และสามารถเข้าเบียนหนอนได้ทันที ตัวเต็มวัยมีอายุ 2-4 วัน ใน 1 มัมมี่ จะมีตัวแตนเบียนประมาณ 50-200 ตัว 

 การใช้แตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวในการควบคุมศัตรูพืช

   – นำมัมมี่ที่จะปล่อยใส่ภาชนะสำหรับปล่อย จำนวน 5 มัมมี่/1 ภาชนะปล่อย

  –  นำภาชนะปล่อยที่ใส่มัมมี่ไปแขวนในสวนมะพร้าว ไร่ละ 1 ภาชนะปล่อย

  – แขวนภาชนะปล่อยในที่ร่มสูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร โดยแขวนที่ต้นมะพร้าว หรือต้นไม้ในสวนมะพร้าว