โรคแอนแทรคโนสในพริก (Anthracnose)

โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคพืชที่ทําให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ มีเชื้อราที่มีความสําคัญเป็นสาเหตุของโรคแอนแทรคโนส อยู่ในจีนัส Colletotrichum ทําให้เกิดความสูญเสียกับพืชเศรษฐกิจ มีพืชอาศัยมากถึง 470 สกุล ทั้งพืชตระกูล ถั่ว หญ้า ผัก ไม้ผลและไม้ประดับ ทําให้ผลผลิตเน่าเสียอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ไม่สามารถขนส่งระยะไกลได้ การระบาดของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในเขตที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง เชื้อราสามารถเข้าทําลายได้ทุกส่วนของพืชตั้งแต่ลําต้น ใบ ก้าน ดอก ผล และเมล็ด

ลักษณะอาการ
อาการของโรคแอนแทรคโนส เริ่มจากจุดแผลแห้งเล็ก ๆ สีน้ำตาลแล้วค่อย ๆ เข้มขึ้นขยายออกเป็นวงกลมหรือวงรีซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อาการของโรคจะเห็นชัดเจนในระยะที่ผลเริ่มสุกเมื่อมีความชื้นสูง จะพบการสร้างกลุ่มของสปอร์หรือ conidia สีส้มหรือสีชมพูเป็นหยดเหลวข้นบริเวณแผลโรคแอนแทรคโนสที่เกิดบนใบ ถ้าเกิดกับใบอ่อนทําให้ใบหงิกงออาการเริ่มจากจุดสีเทาและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มอยู่กระจัดกระจาย เนื้อเยื่อกลางแผลบางและฉีกขาดเป็นรู นอกจากนี้โรคแอนแทรคโนสยังสามารถเข้าทําลายกิ่ง ทําให้เกิดอาการไหม้ได้อีกด้วย

การป้องกันและกำจัด
1ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ต้องเก็บเมล็ดพันธุ์จากผลที่ไม่แสดงอาการของโรค
2.ก่อนเพาะเมล็ดควรแช่ในน้ำอุณหภูมิ 50-55 เซลเซียส นาน 15-20 นาที หรือสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไทแรมหรือแมนโคเซบ เพื่อทำลายเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์
3.การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการป้องกันกำจัด เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลลัส ซับทีลิส และเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า สำหรับการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกและฉีดพ่นจนถึงระยะเก็บเกี่ยว
4.หากมีการระบาดรุนแรงให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพ เช่น แมนโคเซบ ไทแรม เบโนมิล ฟลูซิลาโซล เป็นต้น โดยฉีดพ่นทุก 7-15 วัน
5.ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้ามีผลพริกที่แสดงอาการโรคต้องเก็บออกจากแปลงให้หมดเพราะหากทิ้งไว้จะเป็นแหล่งสะสมของโรค ทำให้บางครั้งการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชไม่ได้ผลเท่าที่ควร
อ้างอิง: พิสุทธิ์ เอกอำนวย. 2562. โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ. พิมพ์ครั้งที่6. สายธุรกิจโรงพิมพ์. หน้า 162
https://www.opsmoac.go.th/singburi-local_wisdom-files-41189…
ทวี เก่าสิริ.2540. โรคพืชและแนวทางการวินิจฉัย.เอกสารเผยแพร่วิชาการ กองโรคพืชและจุลชีววิทยา.กรมวิชาการเกษตร.. 31 หน้า.

ใส่ความเห็น