โรครากปม (Root-knot Disease) จากไส้เดือนฝอย (Meloidogyne spp.)

โรครากปม (Root-knot Disease) จากไส้เดือนฝอย (Meloidogyne spp.)
ไส้เดือนฝอย เป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจทุกกลุ่ม เช่น พืชหัว พืชผัก ไม้ผล พืชเส้นใย ไม้ดอก ไม้ประดับ และ ธัญพืช เป็นต้น มีพืชอาศัยมากกว่า 2,000 ชนิด เช่น มันฝรั่ง พริก มะเขือเทศ ยาสูบ ขิง ฝรั่ง ข้าว ฝ้าย เยอบีรา ฯลฯ โดยไส้เดือนฝอยระยะที่ 2 จะใช้อวัยวะที่เรียกว่า stylet แทงเข้ารากพืชและปล่อยเอ็นไซม์เพื่อทำลายเซลล์รากให้อ่อนนุ่ม จากนั้นตัวอ่อนไส้เดือนฝอยจะเข้าไปในรากพืชและดูดสารอาหารจากพืช ทำให้สรีรวิทยาของพืชผิดปกติ ไส้เดือนฝอยจะลอกคราบอีก 3 ครั้งแล้วเจริญเป็นตัวเต็มวัย โดยเพศเมียจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมีลักษณะค่อนข้างกลมและสามารถออกไข่ได้ประมาณ 100-250 ฟองได้โดยไม่ต้องรับน้ำเชื้อจากเพศผู้ โดยวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอยใช้เวลาประมาณ 25 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นหลัก โดยอุณหภูมิสูงจะครบวงจรชีวิตเร็วขึ้น
ลักษณะอาการของไส้เดือนฝอยรากปมการเข้าทำลายแบ่งเป็น 2 ส่วน
1. อาการของพืชที่อยู่ใต้ดิน (ราก,เหง้า,หัว)
ทำให้เป็นปุ่มปม รากแขนงหรือรากฝอยสั้น การเกิดปมมีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน
2. อาการของพืชส่วนเหนือดิน
ลักษณะคล้ายการขาดธาตุอาหาร เนื่องจาก เมื่อไส้เดือนฝอยเข้าทำลายทำให้เกิดการขัดขวางการดูดซึมและการลำเลียงธาตุอาหาร ทำให้พืชต้นโทรม เหี่ยว แคระเกร็น ใบเหลืองมีขนาดเล็ก

การป้องกันกำจัด
1. นำพืชที่เป็นโรคออกจากแปลงเผาทำลาย หรือ การกำจัดวัชพืช
2. ไถตากดินหรือใช้พลาสติกคลุมดินในฤดูร้อน
3. การปลูกพืชที่สามารถลดอาการเกิดปมได้ เช่น ดาวเรือง ปอเทือง
4. เพิ่มอินทรียวัตถุในดินเพื่อเพิ่มศัตรูธรรมชาติของไส้เดือนฝอย
5. การควบคุมโดยชีววิธี เช่น เชื้อราปฏิปักษ์ Paecilomyces lilacinus (Thom.)
6. การใช้เชื้อเห็ดเรืองแสงอัตรา 10 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูกสามารถลดการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยรากปมได้
7. สารเคมี เช่น abamectin 1.8% EC อัตรา 30มล. / น้ำ 20 ลิตร, carbosulfan 20 % EC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร และ fipronil 5% SC อัตรา 40 มล. / น้ำ 20 ลิตร
อ้างอิง ธิติยา สารพัฒน์, มนตรี เอี่ยมวิมัง, สาสุพัตร อินทวิมลศรี และไตรเดช ข่ายทอง.2553.ประสิทธิภาพของสารควบคุมไส้เดือนฝอยเพื่อป้องกันกําจัดโรครากปมในฝรั่ง.กลุ่มวิจัยโรคพืช สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.กรมวิชาการเกษตร.กทม.
ไตรเดช ข่ายทอง และธิติยา สารพัฒน์.เอกสารแนะนำไส้เดือนฝอยรากปมและการป้องกันกำจัด.กลุ่มวิจัยโรคพืช สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.กรมวิชาการเกษตร.กทม.
สุรีย์พร บัวอาจ, บุษราคัม อดุมศักดิ์, ไตรเดช ข่ายทอง, รุ่งนภา คงสุวรรณ์ และพเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ.2560.การใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita Chitwood ในพริก.กลุ่มวิจัยโรคพืช สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชและสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4.กรมวิชาการเกษตร.กทม.

ใส่ความเห็น