ข่าวเตือนภัยการระบาด ด้วงหมัดผัก

      ปิดความเห็น บน ข่าวเตือนภัยการระบาด ด้วงหมัดผัก

ด้วงหมัดผักแถบเหลือง หรือด้วงหมัดผักแถบลาย (Striped Flea Beetle) 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllotreta sinuata วงศ์ : Chrysomelidae อันดับ : Coleoptera

รูปร่างลักษณะ และวงจรชีวิต 

    ด้วงหมัดผักแถบลายวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือกลุ่มบริเวณโคนต้นพืช เส้นกลางใบพืช และตามพื้นดิน ไข่รูปร่างคล้ายไข่ไก่ ขนาด 3 x 0.27 มม. สีขาวอมเขียว ผิวเรียบเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนก่อนฟักเป็นตัว ระยะไข่ 3 – 4 วัน ตัวหนอนมีสีขาว ส่วนหัวและส่วนท้องปล้องแรกมีสีน้ำตาล มีจุดสีน้ำตาลตามล่าตัวและแผ่นหลังสีน้ำตาลอยู่ทางด้านบนของปล้องสุดท้ายของล่าตัว หนอนอาศัยอยู่ในดิน ระยะหนอน 10 – 14 วัน และเข้าดักแด้ในดิน ส่วนปีกและขาของดักแด้แยกจากล่าตัวเป็นอิสระเคลื่อนไหวได้ ระยะดักแด้ 4 – 5 วัน ตัวเต็มวัยเป็นด้วงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2 – 2.5 มม. ปีกคู่หน้าสีดำมีแถบเหลืองสองแถบพาดตามความยาวด้านล่างลำตัวสีดำ ขาคู่หลังขยายใหญ่และโตกว่าขาคู่อื่นๆ หนวดเป็นแบบเส้นด้าย อายุตัวเต็มวัย 30 – 60 วัน ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง เพศเมียแต่ละตัววางไข่ได้ 80 – 200 ฟอง 

ลักษณะการทำลาย 

    ด้วงหมัดผักเป็นแมลงปีกแข็งชนิดเดียวที่เป็นศัตรูสำคัญของผักตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้ากวางตุ้ง กะหล่ำดอก ผักกาดหัว ตัวอ่อนของด้วงหมัดผักชอบกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผักทำให้ผักเหี่ยวเฉา และไม่เจริญเติบโตถ้ารากถูกทำลายมากๆ ก็อาจทำให้ผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดกินด้านล่างของผิวใบทำให้ใบมีรูพรุน และอาจกัดกินลำต้น และกลีบดอกด้วย 

การป้องกันกำจัด 

    1.การไถตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7 – 15 วัน เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อยู่ใต้ดิน 

    2.ไส้เดือนฝอยสไตเนอร์นีมา คาร์โปแคปซี อัตรา 50 ล้านตัว/น้ำ 20 ลิตร พ่นหรือราดลงดินก่อนปลูกหลังการให้น้ำ และพ่นทุก 7 วันหลังปลูก 

    3.ใช้เชื้อแบคทีเรีย (บีที) บาซิลลัส ทูริงเยนซิส เช่น โนโวดอร์เอฟซี โดยพ่นหรือราดทุก 7 วัน 

    4. ใช้สะเดาบดโรยรอบโคนต้น 20 กก.ต่อไร่  ทุก 7 วัน 

    5. สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ดังนี้ 

โทลเฟนไพแรด 16% EC 30 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร , ไดโนทีฟูแรน 10% WP 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, อะซีทามิพริด 20% SP 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร , ฟิโพรนิล 50 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด และควรพ่นสารสลับกลุ่มกลไกการฤทธิ์เพื่อชะลอการสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง

ลิงค์ : (คลิก)

ที่มา :

สุภราดา และคณะ 2563. คำแนะนำการป้องกันกำจัดแมลง-สัตว์ศัตรูพืช อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากงานวิจัย.กรมวิชาการเกษตร. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.หน้า 121.

กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย