ศทอ.สฎ.สำรวจและติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าว

      ปิดความเห็น บน ศทอ.สฎ.สำรวจและติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าว

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565 นางชนิดา ตะเภาน้อย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอท่าฉาง สำรวจและติดตามการระบาดศัตรูมะพร้าว ณ แปลงนายวัน ไชยวงค์ พื้นที่ ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปลูกมะพร้าวน้ำหอม จำนวน 25 ไร่ จากการสำรวจพบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นผีเสื้อกลางคืน เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าว หรือในที่ร่ม ผีเสื้อเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย เพศเมียวางไข่ตัวละประมาณ 200 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรี แบน วางไข่เป็นกลุ่ม ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ก่อนที่จะย้ายเข้าไปกัดกินใบมะพร้าว การทำลายเกิดในระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยตัวหนอนจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ และสร้างอุโมงค์เป็นทางยาวอาศัยกัดกินใบอยู่ภายในอุโมงค์ ชอบทำลายใบแก่ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้ว จะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ มักจะพบหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หนอนจะสร้างใยผสมกับมูล ทำเป็นอุโมงค์และอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ ทางศทอ.สฎได้แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1. ตัดทางใบมะพร้าวที่ถุกหนอนหัวดำทำลายไปเผา 2. ใช้สารเคมีฉีดพ่นใต้ทางใบให้ทั่ว ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% ดับบลิวจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสจี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ,สปินโนแสด 12% เอสจจี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, ลูเฟนยูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร3. หลังจากฉีดสารเคมี 14 วัน ศทอ.สฎ.จะสนับสนุนแตนเบียนบราคอน ฮีบีเตอร์ อัตราการปล่อย 200 ตัว/ไร่ ปล่อยทุก 15 วัน โดยปล่อยจำนวน 16 ครั้งต่อเนื่องกันที่มา : 1. กรมวิชาการเกษตร 2. กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร